ทองคำ คือ อะไร ราคาทอง ข้อมูลเกี่ยวกับทองคำ แร่ทอง ราคาเหมืองและต้นทุน

ทองคำ คืออะไร

ทองคำ หรือ ภาษาอังกฤษ gold คือ ธาตุเคมีหมายเลขอะตอม 79 สัญลักษณ์ ตัวย่อ คือ  Au (ชื่อเต็ม aurum) เป็นแร่ธาตุโลหะ Transition สีเหลือง วาวและมีลักษณะอ่อน ตีเป็นแผ่น หรือ ยืดออกได้มีความยืดหยุ่นสูง ทองคำจะไม่ทำปฏิกิริยากับสารเคมีทุกชนิด ทองคำมีการใช้ประโยชน์เป็นวงกว้างในหลายอุตสาหกรรม เช่น การเงิน เครื่องประดับ ทันตกรรม อีเล็กทรอนิกส์ และความเชื่อทางวัฒนธรรมประเภทนี

1 ทองคำ คืออะไร

ทองคำ เป็นโลหะมีค่า อยู่กลุ่มเดียวกับ เงิน แพลตทินัม พลาเลเดียม โรเดียม อิริเดียม รูธินั่ม และออสเมียม ที่เป็นแร่หายาก

  • ทองคำเป็นแร่ธาตุตามธรรมชาติซึ่งมีอยู่ในปริมาณน้อยมาก (~ 0.007 ppm)
  • มีความคงทนต่อการเกิดปฏิกิริยาสูง จึงทนต่อการผุกร่อน
  • นิยมนำมาใช้ทำ เครื่องประดับ ทันตกรรม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
  • ทองคำบริสุทธิ์ (99.999%) เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ

สมบัติอื่น ๆ ควรรู้

  • ทองคำในภาษากรีกเรียกว่า Aurum มีน้ำหนักอะตอม 196.966 amu
  • ความถ่วงจำเพาะ 19.33 g/cc จุดหลอมเหลว 1064 องศา(c) จุดเดือด 2970 องศา(c)
  • ทองคำบริสุทธิ์หนัก 1 ออนซ์ สามารถดึงเป็นเส้นลวดได้ยาวถึง 35 ไมล์ ขึ้นอยู่กับขนาดเส้นลวดโดยไม่ขาดจากกัน
  • มีค่าความแข็ง ~ 2-2.5 (เพชร = 10)
  • หน่วยน้ำหนักของทองคำคือ กรัม
  • ไทยนิยมใช้หน่วยเป็นบาท มีค่าเท่ากับ 15.2 กรัม

ทองคำมักนำมาทำเป็นโลหะผสม (Alloy) กับโลหะชนิดอื่น เช่น เงิน นิกเกิล ทองแดง เพื่อเพิ่มความแข็งแรงทนทานและ/หรือปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพอื่นๆ (เช่น สี จุดหลอมเหลว เป็นต้น) เช่น

  • ทองกะรัต (Karat Gold) = ทองคำบริสุทธิ์+ เงิน +ทองแดง
  • ทองคำขาว (White Gold) = ทองคำบริสุทธิ์ + พัลลาเดียม + นิกเกิล + สังกะสี
  • ทองสีชมพู (Pink Gold) =ทองคำบริสุทธิ์ +เงิน +ทองแดง(มากขึ้น)

 

ความบริสุทธิ์ของทองคำตามประเทศ

เศษ1/1000
กะรัต
เปอร์เซ็นต์ทอง
ประเทศที่ใช้
1000 (999)
24
100
ไทย ฮ่องกง จีน อินโดนีเซีย
965
23.16
96.5
ไทย ฮ่องกง จีน อินโดนีเซีย
917
22
91.7
อินเดีย ตะวันออกกลาง
875
21
87.5
ตะวันออกกลาง สิงคโปร์
750
18
75.0
อิตาลี สวิส ยุโรป อเมริกา
583
14
58.3
เยอรมัน อังกฤษ
417
10
41.7
อเมริกา
375
9
37.5
อังกฤษ
333
8
33.3
เยอรมัน

ทองคํากับการใช้เป็นเงิน

ทองถูกนํามาใช้ในการค้าขายแลกเปลี่ยนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทองคําเริ่มมีบทบาทในการค้าเมื่อหกพันปีก่อนในรูปของเหรียญทองคํา

  • ทองคํามีมูลค่าสูงถึงกับมีการกําหนดมาตรฐานเงินตรา เรียกว่า มาตรฐานทองคํา (Gold Standard)
  • รัฐบาลในหลายประเทศ สถาบันการเงิน และบุคคลทั่วไป นิยมเก็งกําไร ทองคําแท่ง
  • โดยเฉพาะยามสงครามที่เงินอาจมีค่าเพียงแค่เศษกระดาษ ในรูปของ “ทองคําแท่ง” (gold bullion)
  • ผู้คนก็นิยมซื้อเหรียญทองคําเก็บไว้สําหรับเป็นของที่ระลึกและเพื่อเก็งกําไรเช่นเดียวกับทองคําแท่ง
  • ทองคํามีหน่วยนับที่นิยม คือ ดอลลาร์ และตามหน่วยน้ําหนัก เช่น ออนซ์ หรือ กรัม

สมบัติทางฟิสิกส์

ลักษณะทั่วไปเป็นเกล็ดหรือเม็ดกลมหรืออาจพบเป็นก้อนใหญ่ ที่เป็นรูปผลึกค่อนข้างหายาก

ความบริสุทธิ์ของทองคำคิดเป็นกะรัตหรือไฟน์เนส (Karat or Fineness) ทองคำบริสุทธิ์จะเท่ากับ 24 กะรัต หรือ 100 ไฟน์

ทอง 14 กะรัต (14K) คือโลหะผสมที่มีทองคำ 14 ส่วน อีก 10 ส่วนเป็นโลหะอื่น ๆ เช่น เงิน นิกเกิล ทองผสมโลหะอื่น

สูตรเคมี Au ทองมักเกิดผสมกับเงินหรือธาตุอื่น เช่น Cu, Fe, Te

การเกิดของแร่ทองคำ

2 การเกิดของแร่ทองคำ

การเกิดแร่ทอง 2 แบบ ตามลักษณะ

  • แบบปฐมภูมิ คือกระบวนการทางธรณีวิทยา มีการผสมทางธรรมชาติจากน้ำแร่ร้อน ผสมผสานกับสารละลายพวกซิลิก้า ทำให้เกิดการสะสมตัวของแร่ทองคำในหิน เช่น หินอัคนี หินชั้น และหินแปร มีการพบการฝังตัวของแร่ทองคำในหิน หรือสายแร่ที่แทรกอยู่ในหิน ซึ่งส่วนใหญ่จะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
  • แบบทุติยภูมิ คือการที่หินที่มีแร่ทองคำแบบปฐมภูมิได้มีการสึกกร่อน และถูกน้ำพัดพาไปสะสมตัวในที่แห่งใหม่ เช่น ตามเชิงเขา ลำห้วย หรือในตะกอนกรวดทรายในลำน้ำ

แหล่งแร่ทองคำในไทย

  • โต๊ะโมะ จ.นราธิวาส
  • ขาสามสิบ จ.สระแก้ว
  • ชาตรี (เขาโป่ง) จ.พิจิตร – จ.เพชรบูรณ์
  • ดอยตุง (บ้านผาฮี้) จ.เชียงราย
  • เขาพนมพา จ.พิจิตร
  • บ้านป่าร่อน จ.ประจวบคีรีขันธ์
  • บ้านนาล้อม จ.ปราจีนบุรี
  • บ้านทุ่งฮั้ว จ.ลำปาง
  • แม่น้ำโขง จ.เลย – จ.หนองคาย
  • บ้านผาช้างมูบ จ.พะเยา

การกำหนดคุณภาพของทองคำ

การกำหนดคุณภาพของทองคำยังคงใช้ความบริสุทธิ์ของทองคำในการบ่งบอกคุณภาพของทองคำ   โดยการคิดเนื้อทองเป็น “กะรัต”

3 การกำหนดคุณภาพของทองคำ

ทองคำบริสุทธิ์  คือ ทองคำที่มีเนื้อทอง 99.99 เปอร์เซ็นต์หรือมากกว่านั้น หรือเรียกกันว่าทองร้อยเปอร์เซ็นต์ในระบบสากลว่า ทอง 24 กะรัต โดยบ่งบอกความบริสุทธิ์คือ “ทองเค” ทองคำบริสุทธิ์ไม่มีโลหะอื่นเจือปนอยู่เท่ากับ 24 กะรัต

ไทยนั้นใช้มาตรฐานความบริสุทธิ์ของทองคำที่ 96.5 % หากจะเทียบเป็นกะรัตแล้วเท่ากับ 23.16 K

4 หน่วยวัดน้ำหนักทอง

หน่วยวัดน้ำหนักทอง

  • กรัม (Grammes) ถือว่าเป็นสากล
  • ทรอยออนซ์ (Troy Ounces) หน่วยน้ำหนักใช้กำหนดราคาในตลาดโลก
  • ตำลึง,เทล (Taels) ฮ่องกง ไต้หวัน จีน
  • โทลา (Tolas) อินเดีย ปากีสถาน สิงคโปร์ และประเทศในตะวันออกกลาง
  • ชิ (Chi) เวียตนาม
  • ดอน (Don) เกาหลีใต้
  • เมสฮาล (mesghal) อิหร่าน
  • บาท (Baht) ไทย

การแปลงหน่วยวัดทองคำแท่ง

  • 1 กิโลกรัม                                 =                          32.1508 ทรอยเอานซ์
  • 1 ทรอยเอานซ์                           =                           31.1034807 กรัม
  • 1 ตำลึง                                      =                          37.429 กรัม
  • 1 โทลา                                     =                          11.6638 กรัม
  • 1 ชิ                                          =                            3.75 กรัม
  • 1 ดอน                                      =                           3.75 กรัม
  • 1 mesghal                                =                            4.6083 กรัม
  • 1 บาท (ทองคำแท่ง)                   =                          15.244 กรัม
  • 1 บาท (ทองรูปพรรณ)                 =                          15.16 กรัม
  • 1 บาท                                       =                          4 สลึง
  • 1 สลึง                                      =                           10 หุ๋น
  • 1 หุ๋น                                         =                           0.38 กรัม

การกำหนดน้ำหนักของทองในประเทศไทย  มีหน่วยเป็น  “บาท” โดยทองคำแท่ง 1 บาท หนัก 15.244 กรัม ส่วนทองรูปพรรณ 1บาท หนัก 15.16 กรัม

เหมืองทองคำ การผลิตทองคำ

5 เหมืองทองคำ การผลิตทองคำ

บริษัทเหมืองทองต่าง ๆ ประเมินปริมาณแร่ทองคำที่เหลืออยู่ในดินสองวิธีด้วยกัน

  • 1. แหล่งสำรอง คือแร่ทองคำในบริเวณที่คุ้มทุนที่จะทำเหมืองแร่เมื่อพิจารณาราคาทองคำ
  • 2. แหล่งทรัพยากร คือแร่ทองคำในที่ ๆ อาจจะไม่คุ้มทุนถ้ามีข้อมูลเพิ่มหรือ ราคาทองคำสูงขึ้น

เราสามารถคำนวณปริมาณแร่ทองคำที่เหลืออยู่ในแหล่งทรัพยากรได้แม่นยำมากกว่า แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

  • สำนักงาน US Geological Survey ระบุว่า ประเมินการณ์ว่าโลกเหลือแร่ทองคำในพื้นดินอยู่ราว 50,000 ตัน
  • พูดให้เห็นภาพก็คือ ถึงตอนนี้ มนุษย์เราได้ขุดแร่ทองคำไปแล้วราว 190,000 ตัน อย่างไรก็ดี บางฝ่ายก็ประเมินตัวเลขนี้แตกต่างกันออกไป
  • เมื่อดูจากตัวเลขประเมินนี้ เรายังเหลือทองคำให้ขุดอีกราว 20% แต่ตัวเลขนี้ก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
  • เทคโนโลยีใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น ชุดข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) หรือปัญญาประดิษฐ์ ก็อาจจะลดกระบวนการและลดต้นทุนการทำเหมืองแร่ทองได้เช่นกัน ขณะนี้มีการใช้หุ่นยนต์ที่เหมืองแร่ทองคำบางแห่งแล้ว และคาดว่าจะกลายเป็นเทคโนโลยีมาตรฐานในการสำรวจเหมืองในอนาคต

 

แหล่งเหมืองแร่ทองคำที่ใหญ่ที่สุด

  • ที่ราบวิตวอเตอร์สแรนด์ (Witwatersrand Basin) ในแอฟริกาใต้เป็นแหล่งแร่ทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก หรือคิดเป็น 30% ของทองคำทั้งหมด
  • เหมืองใหญ่อื่น ๆ เหมืองมะโปเน็งในแอฟริกาใต้
  • เหมืองซูเปอร์พิต และนิวมอนต์ บอดดิงตัน ในออสเตรเลีย
  • เหมืองกราสเบิร์กในอินโดนีเซีย
  • จีนเป็นผู้ทำเหมืองแร่ทองคำรายใหญ่ที่สุดในโลก
  • แคนาดา รัสเซีย และเปรู ก็เป็นผู้ผลิตรายใหญ่เช่นกัน
  • กิจการร่วมในนาม เหมืองทองเนวาดา (Nevada Gold Mines) ในรัฐเนวาดา ซึ่งบริษัทแบร์ริค โกลด์(Barrick Gold) ถือหุ้นใหญ่ ถือว่าเป็นเครือข่ายเหมืองทองที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยพวกเขาผลิตทองราว 3.5 ล้านออนซ์ต่อปี

ทองคำขุดยากขึ้นไหม

การขุดเหมืองขนาดใหญ่ต้องใช้เงินทุน เครื่องจักร และความเชี่ยวชาญมาก ที่จะขุดบนหรือภายใต้พื้นผิวดิน

  • การทำเหมืองราว 60% มาจากการขุดเหมืองบริเวณพื้นผิว
  • รอส นอร์แมน กล่าวว่า การขุดเหมืองยากขึ้น แอฟริกาใต้ที่ขุดจนทองใกล้จะหมดขึ้นเรื่อย ๆ

ที่มาของต้นทุนราคาทองคำ

การกำหนดราคาทองคำขึ้นอยู่กับหลายๆปัจจัย หนึ่งในนั้นคือต้นทุนหน้าเหมือง ซึ่งเรียกว่า The Gold Institute Production Cost Standard  มี 2 ประเภท

ต้นทุน Cash Cost

คือ ต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตทองคำโดยตรง บวกกับค่าสัมปทานเหมือง และหักด้วยต้นทุนการผลิตโลหะอื่น ในกรณีที่เหมืองนั้นๆ มีการผลิตโลหะอื่นนอกเหนือจากทองคำ (เรียกว่า By-product credit)

ต้นทุน Cash Cost = การทำเหมือง + (สัมปทาน – ต้นทุนการผลิตแร่อื่น ๆ)

หมายเหตุ: ต้นทุน Cash Cost ไม่ได้นำต้นทุนนอกเหมืองเช่น ต้นทุนสำนักงาน การวิจัยค้นคว้ามาด้วย

ต้นทุนแบบ  All in sustaining cost (AISC)

เป็นการคิดต้นทุนเพื่อแก้ไขข้อจำกัดของต้นทุน แบบ Cash Cost ที่ โดยต้นทุนแบบ AISC นี้ได้บวกค่าเสื่อมราคาต้นทุนสำนักงาน ต้นทุนการสำรวจ และต้นทุนธุรการ (G&A Expense) เข้าไปอย่างรอบด้าน

All in sustaining cost = Cash Cost + ค่าเสื่อม + ค่าใช้จ่ายสำนักงาน + สำรวจ

ทั้งนี้ราคาหน้าเหมืองจะขึ้นอยู่กับปริมาณการผลิตทองคำที่ได้ ยิ่งได้เยอะเท่าไหร่ราคาก็จะยิ่งต่ำลง

ราคาทองคำ

ปัจจุบันสามารถติดตามกราฟราคาทองคำได้จากผู้ให้บริการกราฟ เช่น Tradingview

 

GOLD Chart by TradingView

ปัจจัยการเคลื่อนไหวของราคาทองคำ

6 ปัจจัยการเคลื่อนไหวของราคาทองคำ

ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาทองคำแท่งในตลาดโลกมาจากหลายสาเหตุประกอบกันโดยมีสาเหตุหลัก ๆ ดังต่อไปนี้

⦁    อุปสงค์และอุปทานจริงของทองคำ จากการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและความต้องเครื่องประดับ
⦁    นโยบายการเงินของประเทศและโลกมีผลกระทบอย่างยิ่งต่ออัตราแลกเปลี่ยนและราคาทองคำ
⦁    การซื้อขายของผู้ลงทุน นักลงทุน ย่อมส่งผลกระทบต่อราคาทองคำ

การลงทุนในหุ้นเหมืองทอง

สำหรับหุ้นเหมืองทองคำนั้นมีหลายเรื่องที่ต่างจากการลงทุนในทองคำแท่ง ซึ่งมีประเด็นที่ควรทราบดังนี้

⦁    เหมืองถือเป็นธุรกิจ ผู้ลงทุนมีโอกาสได้เงินปันผล แต่ธุรกิจย่อมมีความเสี่ยง เมื่อราคาทองคำเพิ่มขึ้น แต่ต้นทุนไม่ได้เพิ่มขึ้นเร็วเท่ากับราคาที่ปรับขึ้น บริษัทย่อมได้กำไรสูง แต่หากราคาทองลงบริษัทอาจจะขาดทุนได้
⦁    ผู้ที่ลงทุนในหุ้นเหมืองแร่จะต้องประเมินถึงโมเดลธุรกิจของแต่ละบริษัท ส่วนใหญ่มาจากการประมูลสัมปทานของประเทศ หากมีปัญหาเรื่องสัมปทานมูลค่าของบริษัทจะหายไปทันทีได้เช่นกัน
⦁    การประเมินเหมืองนั้นใช้ความเฉพาะตัวค่อนข้างสูง ทั้งในแง่โมเดลทางธุรกิจ การบริหารจัดการ ความเสี่ยงทางการเงิน การดำเนินธุรกิจ เป็นต้น

หุ้นเหมืองทองคำนั้นต่างจากการลงทุนในทองคำแท่ง เพราะเป็นธุรกิจที่สามารถเติบโตหรือล้มละลายลงได้

การบริโภคทองคำ

7 การบริโภคทองคำ

ด้วยการบริโภคทองคำ ซึ่งเป็นอุปสงค์ของตลาดทองคำที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดราคาทองคำ การรู้ถึงทิศทางของการบริโภคทองคำ ความต้องการของตลาด การปรับความเสี่ยงตามสภาวะตลาดที่เหมาะสม จึงมีความสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุน เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมสอดคล้องกับระยะเวลาสภาพการณ์ของตลาด ภายใต้ความเสี่ยงที่ประเมินสถานการณ์ไว้ล่วงหน้า

การบริโภคทองคำนั้นมีมาตั้งแต่อดีต สืบทอดรุ่นต่อรุ่น ผ่านความเชื่อว่าทองคำนั้นมีคุณค่าในตัวเอง เป็นสิ่งที่หาได้ยากและมีลักษณะเฉพาะตัว ดังนั้นมนุษย์จึงใช้ความเชื่อเหล่านี้ในการตอบสนองความต้องการของมนุษย์เองเพื่อใช้แสดงถึงพลังอำนาจ ความมั่งคั่ง ร่ำรวย

ปัจจุบันการบริโภคทองคำ จากสถิติ 5 ปี ผ่านมา เราสามารถแบ่งตามประเภทการใช้งานได้ 4 ประเภท ดังนี้

  • 1. ใช้เป็นเครื่องประดับ 50 %
  • 2. ใช้สำหรับการลงทุนตราสารทางการเงิน 32%
  • 3. ใช้ในงานอุตสาหกรรม 10%
  • 4. ธนาคารกลาง 8%

การศึกษาและทำความเข้าใจการบริโภคทองคำนั้นมีส่วนสำคัญต่อการลงทุน ซึ่งแต่ละองค์ประกอบยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่สำคัญอีกมาก ทางเราจะลำดับความคิดและเสนอมุมมองผ่านรายงานฉบับนี้

ลักษณะทางกายภาพทองคำ

เราสามารถแบ่งแยกทองคำตามลักษณะทางกายภาพได้ด้วย สี น้ำหนัก และ ความบริสุทธิ์

สีของทองคำ

8 สีของทองคำ

ทองคำบริสุทธิ์ (24 K) ทองคำมีความอ่อนตัว จึงต้องมีการผสมโลหะอื่นเพื่อเพิ่มคุณสมบัติบางอย่างที่ต้องการ เช่น ความแข็งแรงทนทาน ความเปล่งประกายเงางามและสีสันสัดส่วนการหลอมรวมอาจจะมีทองคำ หรือโลหะอื่นๆ เช่น เงินทองแดง หรือ พาลาเดียม ผสมกันในอัตราส่วนตามมาตรฐาน จึงได้ทองคำหลากหลายสี เช่น ทองคำบริสุทธิ์ (Yellow gold), ทองขาว (White gold), ทองคำสีกุหลาบ (Rose gold)

น้ำหนักของทองคำ

9 น้ำหนักของทองคำ

หน่วยสากล ที่ใช้ในการแปลงน้ำหนักของทองคำ ได้แก่

  • กรัม ใช้เป็นหน่วยสากล ในทุกประเทศ
  • ทรอยออนซ์ ใช้ในประเทศอังกฤษ, สหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลี (1ทรอยออนซ์เท่ากับ 31.103 กรัม)
  • บาท ใช้ในประเทศไทย

การแปลงน้ำหนักทองคำ แบ่งเป็นสำหรับทองคำ 96.5% (มาตราฐานในประเทศไทย)

  • ทองคำความบริสุทธิ์ 96.5%
  • ทองรูปพรรณ น้ำหนัก 1 บาท = 15.16 กรัม
  • ทองคำแท่ง น้ำหนัก 1 บาท = 15.244 กรัม
  • ทองคำแท่ง น้ำหนัก 1 กิโลกรัม = 65.6 บาท
  • ทองคำแท่ง น้ำหนัก 1 บาท = 0.4901 ทรอยออนซ์

ความบริสุทธิ์ของทองคำ

กะรัต เป็นหน่วยที่ใช้บอกความบริสุทธิ์ของทองคำ ช่วยบอกสัดส่วนเนื้อทองคำ ตัวเลขมากบอกได้ว่ามีทองคำอยู่มาก ซึ่งในทองคำบริสุทธิ์ 100% จะคิดเป็น 24 ส่วน หรือเรียกว่า ทองคำ 24 K และทองคำ 22K 18K 14K และ 10K ตามลำดับ

  • สำหรับประเทศไทยนั้นใช้มาตรฐานความบริสุทธิ์ของทองคำที่ 96.5 เปอร์เซ็นต์ หากจะเทียบเป็นกะรัตแล้วจะได้ประมาณ 23.16K
  • เนื่องจากทองคำบริสุทธิ์ 99.99 เปอร์เซ็นต์มีความอ่อนตัวมาก จึงไม่สามารถนำมาใช้งานได้ จำเป็นต้องผสมโลหะอื่นๆลงไปเพื่อปรับคุณสมบัติทางกายภาพของทองคำให้แข็งขึ้น คงทนต่อการสึกหรอ

บางผู้ผลิตอาจผสมทองแดงเป็นสัดส่วนที่มากเพราะต้องการให้สีของทองออกมามีสีอมแดงหรือบางรายอาจชอบให้ทองมีสีออกเหลืองขาวก็ผสมเงินในอัตราส่วนที่พอเหมาะ ซึ่งทั้งหมดนั้นจะได้ความบริสุทธิ์ของทอง 96.5 เปอร์เซ็นต์เช่นเดียวกัน

คุณสมบัติสำคัญของทองคำอีกประการหนึ่งคือ ทองคำเป็นโลหะที่อ่อนและเหนียว ทองคำหนัก 1 ออนซ์ สามารถทำให้เป็นเส้นได้ยาวถึง 50 ไมล์ และสามารถตีแผ่ทองคำให้เป็นแผ่นบางขนาด 0.00005 นิ้วได้ นอกจากนี้ทองคำยังเป็นโลหะที่ไม่ละลายในกรดชนิดใดเลย แต่สามารถละลายได้อย่างช้าๆ ในสารละลายผสมระหว่างกรดดินประสิวและกรดเกลือ

คุณสมบัติของทองคำ

ทองคำได้รับความนิยมอย่างสูงสุดในวงการเครื่องประดับเพราะเป็นโลหะมีค่าชนิดเดียวที่มีคุณสมบัติพื้นฐาน 4 ประการ ซึ่งทำให้ทองคำโดดเด่นและเป็นที่ต้องการเหนือบรรดาโลหะมีค่าทุกชนิดในโลก คือ

1.ความงดงามมันวาว (Lustra) สีสันที่สวยงามตามธรรมชาติผสานกับความมันวาวก่อให้เกิดความงามอันเป็นอมตะ ทองคำสามารถเปลี่ยนเฉดสีทองโดยการนำทองคำไปผสมกับโลหะมีค่าอื่นๆ ช่วยเพิ่มความงดงามให้แก่ทองคำได้อีกทางหนึ่ง

2.ความคงทน (Durable) ทองคำไม่ขึ้นสนิม ไม่หมองและไม่ผุกร่อน แม้ว่ากาลเวลาจะผ่านไปนานเท่าไรก็ตาม

3.ความหายาก (Rarity) ทองคำเป็นแร่ที่หายากกว่าจะได้ทองคำมาหนึ่งออนซ์ ต้องถลุงก้อนแร่ที่มีทองคำอยู่เป็นจำนวนหลายตัน และต้องขุดเหมืองลึกลงไปหลายสิบเมตรจึงทำให้มีค่าใช้จ่ายที่สูง เป็นสาเหตุให้ทองคำมีราคาแพงตามต้นทุนในการผลิต

4.การนำกลับไปใช้ประโยชน์ (Reusable) ทองคำเหมาะสมที่สุดต่อการนำมาทำเป็นเครื่องประดับ เพราะมีความเหนียวและอ่อนนิ่ม สามารถนำมาทำขึ้นรูปได้ง่าย อีกทั้งยังสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้โดยการทำให้บริสุทธิ์ (Purified) ด้วยการหลอมได้อีกนับครั้งไม่ถ้วน

สูตรการตั้งราคาทอง

การตั้งราคาทองคำในประเทศไทยอ้างอิงจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ Gold Spot และ USD-THB โดย Gold Spot คือ ราคาทองต่างประเทศ มีการซื้อขายทองโดยใช้เงินสกุลดอลล่าร์ ส่วน USD-THB คือ อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์

การตั้งราคาทองคำแท่งในประเทศไทย มีสูตรคำนวณดังนี้

สูตรคำนวณราคาทองคำแท่งไทย = (Gold Spot + Premium)*32.148*(อัตราแลกเปลี่ยน THB/USD *0.965) / 65.6)

หมายเหตุ

  • Premium คือ ต้นทุนในการนำเข้าทองคำจากต่างประเทศ ประมาณ 1-2 เหรียญ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายทุกอย่างที่ถูกกำหนดโดยผู้ค้าทองในต่างประเทศ
  • ตัวเลข 32.148 คือ น้ำหนักของทองคำ 1 กิโลกรัม เมื่อเทียบเป็น ออนซ์
  • ตัวเลข 0.965 คือ ค่าความบริสุทธิ์ของทองคำในประเทศไทย 96.5%
  • ตัวเลข 65.6 คือ น้ำหนักของทองคำ 1 กิโลกรัมเมื่อเทียบเป็นน้ำหนักบาท (96.5%)

 

เครื่องหมายรับรองคุณภาพของทองคำ

เครื่องหมายรับรองคุณภาพของทองคำ (Hallmark) เป็นสิ่งที่แสดงถึงลักษณะเฉพาะตัวของทองคำ ที่มาของทองคำ ความบริสุทธิ์ ซึ่งแต่ละประเทศจะมีลักษณะของ Hallmark ที่คิดขึ้นมาเอง ในยุโรปจึงมีการรวมกลุ่มจัดตั้งมาตรฐานการตรวจสอบโลหะ และได้ลงนามในอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยการควบคุมการประทับตราของวัตถุโลหะมีค่า กลุ่มประเทศในยุโรปส่วนใหญ่จะใช้ระบบเวียนนาในการตรวจสอบ ซึ่งมีชื่อเรียกว่า Common Control Mark (CCM) ทองคำที่ได้รับมาตราฐานนี้สามารถนำเข้าและส่งออกในยุโรปได้ โดยไม่ต้องมีการตรวจสอบ ซึ่งเป็นการป้องกันการปลอมแปลงและบ่งบองคุณภาพรวมถึงที่มีของทองคำได้อย่างชัดเจน (Khanna, 2015)

 

ลักษณะการบริโภคทองคำ

ในปัจจุบันมีแบ่งการบริโภคทองคำตามจุดประสงค์ด้านการใช้งาน ได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ

  1. การบริโภคจากการใช้งานจริง
    • การบริโภคในตลาดเครื่องประดับ
    • การบริโภคทองในภาคอุตสาหกรรม
  2. การบริโภคเพื่อการลงทุน
    • การบริโภคทองแท่งและเหรียญทอง
    • การสำรองทองคำของธนาคารกลาง

การบริโภคเพื่อการลงทุน ส่งผลต่อความผันผวนของราคาทองคำในระยะสั้น โดยเราจะเห็นราคาทองคำผันผวนมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน โดยในส่วนนี้แยกได้เป็น การบริโภคทองแท่งและเหรียญทอง, การสำรองทองคำของธนาคารกลาง และการลงทุนผ่านกองทุน ETF ของนักลงทุนสถาบัน (Grubb, 2014)

การบริโภคเพื่อการลงทุน

10 การบริโภคเพื่อการลงทุน

การลงทุนในทองคำมีหลายประเภท ตั้งแต่ CFD ทองคำ ทอง Forex หรือการเทรดทองแบบ ETF และ Futures ก็มีเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนทองออนไลน์

การลงทุนผ่านกองทุน ETF ของนักลงทุนสถาบัน

จากรูปจะเห็นว่า สัดส่วนการบริโภคจากการใช้งานจริงคิดเป็นสัดส่วน 58% และสัดส่วนการบริโภคเพื่อการลงทุน 42% แต่จากราคาทองคำที่ผันผวนในปัจจุบันนั้นเกิดจากสัดส่วนการบริโภคเพื่อการลงทุน ดังนั้นการที่เราจะประเมินราคาการเคลื่อนไหวทองคำในระยะสั้น คงต้องติดตามความเคลื่อนไหวของสัดส่วนการบริโภคเพื่อลงทุนเป็นหลัก แต่ในระยะยาวนั้นยังคงให้น้ำหนักไปที่การบริโภคจากการใช้งานจริง อีกทั้งโครงสร้างการบริโภคเปลี่ยนแปลงจากอดีต ประเทศในแถบเอเชียมีสัดส่วนการบริโภคที่สูงขึ้น โดยมีการเพิ่มขึ้นในส่วนบริโภคเครื่องประดับและเทคโนโลยี (Grubb, 2014)

 

โดยสรุปแล้วในช่วงระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่านมานั้น การบริโภคที่เปลี่ยนไป เป็นผลมาจาก (Grubb, 2014)

  1. การเติบโตทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเอเชีย ทำให้รายได้ผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการบริโภคทองคำ
  2. การขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศจีน จำนวนประชากรจีนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงขนบธรรมเนียมจีนที่นิยมบริโภคทองคำเป็นหลัก
  3. การเพิ่มขึ้นของการลงทุนในทองคำ ทำให้เกิดการเกร็งกำไรในกลุ่มผลิตภัณฑ์จำพวก ETF ซึ่งสะดวกและมีสภาพคล่องสูง
  4. การบริโภคของธนาคารกลางซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมามียอดการขายตลอด จนเมื่อปี 2552 ธนาคารกลางของกลุ่มประเทศในเอเชียมีสถานะซื้อครั้งแรก

ในระยะยาวแล้วการบริโภคทองคำ ต้องพึ่งพาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญ เมื่อผู้บริโภคมีรายได้เพิ่มขึ้น การบริโภคทองคำก็จะเพิ่มขึ้น ราคาทองคำในระยะยาวก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน

การบริโภคเพื่อใช้งานจริง

การบริโภคในตลาดเครื่องประดับ

มนุษย์ใช้ทองคำสำหรับเป็นเครื่องประดับเพื่อความสวยงาม ตลอดช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีสัดส่วนการบริโภคสูงถึง 50 % ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่ ทำให้ความมั่งคั่งของประชากรเหล่านั้นเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อการบริโภคทองคำ โดยเฉพาะในประเทศจีนและอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดการบริโภคเครื่องประดับทองคำที่มีสัดส่วนสูงมาก ด้วยลักษณะทางด้านวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศเป็นแรงขับเคลื่อนการบริโภค การเก็บทองคำสำหรับสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองและส่งผ่านสู่ลูกหลานในอนาคต รวมถึงงานเทศกาล ,งานแต่งงานและวันสำคัญของประชาชนของทั้งสองประเทศนิยมให้ทองคำเป็นของขวัญคนสำคัญ จากปัจจัยเบื้องต้นพอจะตั้งข้อสังเกตุได้ว่า สิ่งที่จะมีผลต่อการบริโภคบริโภคด้านเครื่องประดับในอนาคตนั้น เกิดจากการขยายตัวของประชากรในประเทศอินเดียและประเทศจีนซึ่งจากสถิติคาดว่าภายในปี ค.ศ. 2020 ประชากรรวมของทั้งสองประเทศจะมีประมาณหนึ่งล้านล้านคน ด้วยจำนวนประชากรขนาดนี้ ถ้าซื้อทองเนื่องในวันสำคัญให้กันและกัน ต้องใช้ทองมากขนาดไหน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอีกปัจจัยที่จะช่วยเสริมการบริโภคด้านนี้ คือ ปัจจัยการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอินเดียและจีนซึ่งจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อในอนาคตได้อีกมาก

มนุษย์รู้จักทองคำมาช้านาน ทองคำมีลักษณะความสวยงามและมีความวับวาบ จึงมีการนำมาใช้เป็นเครื่องตกแต่งในพิธีกรรมทางศาสนา และเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความรุ่งเรื่องและมีอำนาจ โดยเฉพาะประเทศอียิปต์ซึ่งมีสิ่งของที่ทำจากทองคำมากมาย ทองคำเป็นโลหะที่ถูกสร้างให้ได้รับความเชื่อว่ามีค่า อีกทั้งยังใช้เป็นสิ่งที่แทนเงินตรา จนเข้าสู่คริสตศตวรรษที่ 19 ได้มีการนำมาตราฐานทองคำมาใช้เป็นระบบเงินตราในหลายประเทศ อีกทั้งยังมีการขุดทองคำในประเทศต่างๆ ทำให้ประเทศที่มีทองคำเศรษฐกิจเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

ประเทศที่มีการบริโภคทองคำในส่วนของเครื่องประดับมากที่สุดคือ จีน, อินเดียและสหรัฐอเมริกาซึ่งการบริโภคที่เกิดขึ้นมาจากความเชื่อทางด้านวัฒนธรรมที่สั่งสมกันมาแต่อดีตผสมผสานกับการสร้างสรรค์ผลงานการออกแบบเครื่องประดับสำหรับผู้บริโภคให้ทันสมัยและหลากหลายรูปแบบ อีกทั้งประชากรที่มีความมั่งคั่งในประเทศเพิ่มมากขึ้น จึงแสวงหาเครื่องประดับเพื่อความสวยงามและใช้แสดงถึงความร่ำรวย

จากข้อมูล รูปที่ 10 แสดงความสัมพันธ์ระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับการบริโภคทองคำด้านทำให้เราทราบว่า การเพิ่มขึ้นของรายได้และภาพรวมของเศรษฐกิจส่งผลดีต่อการบริโภคด้านเครื่องประดับ โดยการเพิ่มขึ้นของ GDP 1 % ทำให้การบริโภคด้านเครื่องประดับเพิ่มขึ้น 5 % ทำให้ราคาทองคำปรับตัวสูงขั้นด้วย (Grubb, 2014)

จากข้อมูลรูปที่ 11 แสดงความสัมพันธ์ระหว่างความต้องการบริโภคทองคำด้านเครื่องประดับกับปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ทำให้ทราบว่าส่วนประกอบที่สำคัญและส่งผลต่อการบริโภคทองคำด้านเครื่องประดับนั้นเกิดจาก รายได้ที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค, การขยายตัวทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ ในทางตรงข้ามถ้าราคาทองคำเพิ่มขึ้นความต้องการจะลดลงเช่นกัน แต่ทั้งนี้เครื่องประดับทองคำนับว่าเป็นสินค้าที่อัตราการบริโภคจะเพิ่มขึ้นมาก ถ้าผู้บริโภคมีรายได้เพิ่มขึ้น นั่นคือ ถ้าผู้บริโภคมีรายได้เพิ่มขึ้นจะนำเงินไปซื้อทองคำมากกว่ารายได้ส่วนเกินที่เพิ่มขึ้นมา

โดยสรุปแล้ว การบริโภคทองคำในส่วนของเครื่องประดับเพิ่มขึ้นหรือลดลง เป็นผลมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจ GDP ซึ่งการบริโภคด้านนี้มีสัดส่วนสูงกว่าการบริโภคด้านการลงทุน แต่การบริโภคด้านการลงทุนนั้นส่งผลต่อความผันผวนของราคาทองคำมาก ดังนั้นในระยะยาวแล้วราคาทองคำนั้นขึ้นอยู่กับรายได้ของผู้บริโภค ภาพรวมของเศรษฐกิจ โดยความผันผวนเกิดจากการบริโภคด้านการลงทุนซึ่งเป็นปัจจัยระยะสั้นเท่านั้น (Grubb, 2014)

1.1.ประเทศจีน

ทองคำเริ่มเข้ามาสู่ประเทศจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น (China's jewellery market, 2012) แต่เริ่มมามีบทบาทมากพร้อมกับการมาถึงของศาสนาพุทธ พิธีถวายทองคำและสร้างเจดีย์ทองและรูปปั้นของพระพุทธเจ้า ประชาชนจีนนิยมให้ทองเป็นของขวัญสำหรับครอบครัวเนื่องในเทศกาลต่างๆ เช่น ของขวัญสำหรับเด็กแรกเกิดในรูปแบบสร้อยคอ สร้อยข้อมือ หรือจะเป็นเครื่องประดับจำพวกสัญลักษณ์ราศี เช่น มังกร, เสือ, งูและม้า รวมถึงการให้เป็นของขวัญเนื่องในเทศกาลปีใหม่ จะเห็นได้ว่าการบริโภคทองในประเทศจีน เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและสังคม ซึ่งการให้ทองคำเปรียบเสมือนการอวยพรให้ร่ำรวยและโชคดี แต่ด้วยสังคมหนุ่มสาวจีนที่กำลังเติบโตและร่ำรวยจากการเติบโตด้านเศรษฐกิจของประเทศจีน ทำให้การออกแบบเครื่องประดับทองคำต้องตอบสนองต่อการบริโภคของคนหนุ่มสาวด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่และหรูหราด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังสังเกตุเห็นปรากฏการณ์การต่อคิวยาวหน้าร้านเพื่อซื้อทองคำในช่วงที่ราคาทองคำลดลง ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีแสดงถึงการบริโภคที่ยังมีอีกมาก

ปัจจุบันจีนเป็นตลาดเครื่องประดับทองคำที่เติบโตอย่างรวดเร็ว จากการที่เศรษฐกิจภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยชาวจีนมองว่าการซื้อเครื่องประดับทองคำแสดงให้เห็นถึงการวางแผนทางการเงินและเชื่อว่าจะนำความโชคดีมาให้ เวิลด์ โกลด์ เคาน์ซิล (world gold council) แสดงผลวิจัย 82 %ของชาวจีนเห็นด้วยที่ว่า เครื่องประดับทองคำมีผลอย่างมากต่ออุตสาหกรรมแฟชั่น ซึ่งไม่น่าแปลกใจที่ผู้บริโภคชาวจีนส่วนใหญ่ ยังคงซื้อเครื่องประดับทองคำ 24K (99.99%) ทำให้รักษาอำนาจการซื้อทางการเงินที่ยั่งยืนมากขึ้นและเป็นการสร้างความมั่งคั่งทางการเงินในอนาคตด้วย (China's jewellery market, 2012)

โดยมองว่าในระยะยาวทองคำสามารถที่จะเพิ่มมูลค่าได้เสมอ หมายความว่า เมื่อราคาทองคำลดลงก็จะเป็นโอกาสในการเข้าซื้อ มุมมองนี้เห็นได้ชัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูใบไม้ผลิในปี ค.ศ. 2013 เมื่อคิวการสั่งซื้อที่ยาวเหยียดจนทำให้เกิดความวุ่นวายตามเคาน์เตอร์เครื่องประดับในห้างสรรพสินค้า บางร้านในฮ่องกงก็ถึงกับได้รับการสั่งซื้อจากลูกค้าจำนวนมากจนไม่สามารถจัดการกับลูกค้าที่มายืนแออัดกันอยู่ที่หน้าร้านได้ก่อนที่สินค้าจะขายหมด

ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของจีนที่กำลังเติบโตอยู่นั้น ทำให้เพิ่มความสามารถในการซื้อและการครอบครองเครื่องประดับทองคำที่สวยงามเหล่านี้ ซึ่งตลอดระยะเวลาหลายที่ผ่านมานั้นประชากรรุ่นใหม่ๆของจีนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละรุ่น ได้ทำให้ทองคำกลายเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความเป็นเอกลักษณ์ที่ชัดเจน รวมไปถึงการมองหาความแปลกใหม่และความทันสมัยในการออกแบบที่โดดเด่นเป็นรูปแบบเฉพาะของจีนเอง กลุ่มคนรุ่นใหม่มีบทบาทและเป็นกำลังสำคัญมากขึ้นในตลาดทองคำรวมถึงสินค้าที่มีความหรูหราและดูเหมือนว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนของการบริโภคของเครื่องประดับที่เป็นทองคำเพิ่มขึ้นในแต่ละปีอีกด้วย (China's jewellery market, 2012)

โครงสร้างประชากร

ปี พ.ศ. 2557 ประเทศจีน มีประชากรประมาณ 1400 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 20% ของประชากรทั้งโลก อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากร 0.44% ต่อปี ค่ากลางของอายุประชากร 36.7 ปี สัดส่วนเพศชายต่อเพศหญิง 52%:48% อัตราการแต่งงาน 6.3/1000 หรือ คิดเป็นประมาณ 9 ล้านคู่ต่อปี ช่วงอายุหนุ่มสาวที่แต่งงานอยู่ในช่วงอายุ มากกว่า 22 ปี จะเห็นว่าในอนาคตประชากรจีนจะเพิ่มมากขั้น อีกทั้งช่วงอายุประชากร 25-29 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุวัยทำงาน อยู่ในสัดส่วนที่สูงมาก จากโครงสร้างด้านประชากร ซึ่งจะส่งผลต่อการบริโภคทองด้านเครื่องประดับเพิ่มขึ้นในอนาคต (China population, 2015)

จากรูปที่ 16 แสดงอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรจีนหลังประกาศนโยบาย One-child policy จะเห็นว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรจีนลดลง ซึ่งในอนาคตจะส่งผลต่อโครงสร้างประชากร คนวัยชราจะมีมากกว่าชนชั้นแรงงาน ทำให้รัฐบาลจีนยกเลิกนโยบาย one child policy และรณรงค์ให้ประชนชนมีลูกได้ 2 คน ตามนโยบาย two child policy โดยประกาศใช้เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2558 ที่ผ่านมา และมีผลบังคับใช้ในเดือนมีนาคม พ.ศ.2559 เป็นต้นไป (China to end on-child policy, 2015) ถ้ามาตราการนี้ได้รับการตอบรับจากประชาชน เด็กเกิดใหม่เพิ่มมากขึ้นส่งผลดีต่อการบริโภคทองด้านเครื่องประดับในอนาคต แต่ถ้านโยบายนี้ไม่ได้รับความนิยมอันเนื่องมาจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ความไม่พร้อมด้านค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูเด็กที่เกิดใหม่ อัตราการเกิดจะอยู่ในสัดส่วนเดียวกับปัจจุบันที่ 0.6% ต่อปี (China, 2015)

ในช่วงที่ผ่านมาโครงสร้างทางประชากรจีน ใช้นโยบาย one child policy สัดส่วนประชากรก่อนวัยทำงานลดน้อยลง ในขณะที่สัดส่วนประชากรสูงอายุมีขนาดที่มากขึ้นกว่าชนชั้นทำงาน ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป อนาคตจะมีแต่ผู้สูงอายุ ขาดชนชั้นทำงาน แล้วโครงสร้างทางเศรษฐกิจต้องถดถอยแน่นอน สิ่งที่รัฐบาลจีนทำคือ ออกนโยบาย two child policy ส่งเสริมให้ประชากรจีนมีลูกมากกว่าหนึ่งคน ซึ่งนโยบายนี้มีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ.2559 และจากนโยบายนี้ประมาณการณ์ได้ว่าประเทศจีนจะมีขนาดประชากรเพิ่มขึ้นถึง 1.46 ล้านล้านคน ในปี พ.ศ.2578 (China to end on-child policy, 2015)


สภาพเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจจีนสามารถขยายตัวสูงต่อเนื่องในอดีตจากการพึ่งพาการลงทุนและการส่งออกภายใต้การบริหารของภาครัฐที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจและเงินทุน อย่างไรก็ตามแนวนโยบายดังกล่าว มีผลให้เศรษฐกิจจีนขาดประสิทธิภาพและเสถียรภาพโดยนับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นรัฐบาลจีนชุดปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องดำเนินการปฏิรูปอย่างเร่งด่วนเพื่อปรับสมดุลเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพและเสถียรภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงการขยายบทบาทของจีนในเวทีโลก ซึ่งแม้ต้องดำเนินนโยบายเศรษฐกิจชะลอตัวลงในระยะสั้น แต่เป็นการช่วยลดความเสี่ยงสะสมในภาคการเงินและภาคการคลัง และสร้างแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพมากขึ้นในระยะยาว (พูนผลกุล, 2558)

บทเรียนจากความไม่มีเสถียรภาพ ในรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเก่าส่งผลให้รัฐบาลจีนภายใต้การบริหารของประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ประกาศแผนแม่บทปฏิรูปในการประชุม Third Plenum1 ในปีพ.ศ.2556 ซึ่งเป็นโมเดลการขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบใหม่ ที่จะให้ความสำคัญกับคุณภาพของการขยายตัวเสถียรภาพระยะยาวและคำนึงถึงการพัฒนาแบบองค์รวมทั้งด้านเทคโนโลยี บุคคลากร และความเท่าเทียมมากขึ้น โดยโมเดลการขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบใหม่นี้ถือเป็นการบริหารจัดการเศรษฐกิจที่ทางการจีนไม่คุ้นเคย เนื่องจากให้กลไกตลาดเข้ามามีบทบาทมากขึ้นและลดอำนาจการจัดการของรัฐทำให้ต้องมีการปฏิรูปที่ไม่ได้เพียงแต่ปรับเปลี่ยนแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องมีการพัฒนาเชิงสถาบันให้แข็งแกร่งขึ้นด้วย แผนแม่บทการปฏิรูปนี้ได้วางกรอบการปฏิรูปเศรษฐกิจแบบบูรณาการเพื่อดูแลศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมผ่านการปลดล็อคปัญหาและข้อจำกัดในระยะยาวเพื่อสนับสนุนผลิตภาพ การผลิต การสะสมทุนและแรงงาน รวมถึงรักษาเสถียรภาพในด้านต่างๆ โดยมีแนวทางการปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาในแต่ละด้าน” (พูนผลกุล, 2558)

การปฏิรูปเศรษฐกิจใหม่ของประเทศจีนให้ความสำคัญกับคุณภาพมากขึ้นเพื่อลดปัญหาศักยภาพและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง โดยทางการจีนได้ปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อดูแลปัญหา ดังกล่าวผ่านการเพิ่มผลิตภาพการผลิต ลดปัญหา การสะสมทุน และแก้ข้อจำกัดทางด้านแรงงาน รวมถึงลดความเสี่ยงทางด้านการเงินและการคลัง พร้อมกันนั้นยังเร่งเพิ่มบทบาทของจีนในเวทีการค้าและการเงินโลกเพื่อขยายอำนาจทางเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ ทั้งนี้ การปฏิรูปดังกล่าว ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนชะลอลงและก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินจีน แต่จะช่วยป้องกันความเสี่ยงและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสรรเงินในการลงทุน ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจจีนในระยะยาว” (พูนผลกุล, 2558)

จากข้อมูล รูปที่ 24 แสดง China disposable personal income รายได้ของประชากรจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น การจับจ่ายใช้สอยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อการบริโภคทองคำอย่างต่อเนื่องเช่นกันดังนั้นสิ่งที่ต้องคอยติดตามอย่างใกล้ชิดคือการเจริฐเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจีน

ในอดีตที่ผ่านมา สภาพเศรษฐกิจจีนได้มีการพัฒนการจากประเทศ poor developing country ขึ้นมาเป็น upper middle income จากการปฎิรูปนโยบายด้านเศรษฐกิจและการเปิดประเทศในสมัยท่าน เติ้ง เสี่ยวผิง ซึ่งถ้าดูการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจีนกับการเติบโตของราคาทองคำจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน การที่ราคาทองคำจะกลับไปเป็นขาขึ้นได้นั้น คงต้องพิจารณาเศรษฐกิจจีนเป็นหลักด้วย ช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจจีนเป็นขาขึ้นอัตราการบริโภคทองคำเพิ่มขึ้น เนื่องมาจากชนชั้นกลางที่มีความมั่งคั่งต้องการบริโภคทองคำเพื่อใช้ในโอกาสงานเทศกาลรวมถึงเพื่อแสดงถึงความมั่งคั่งทางสังคม

วัฒนธรรม

เป็นที่ทราบกันว่าการบริโภคทองคำนั้นแตกต่างกันตามแต่วัฒนธรรมในแต่ละประเทศสืบเนื่องกันมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน รวมถึงทองคำที่ใช้ในประเทศจีนด้วยเช่นกัน ทองคำในจีนถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคดีและใช้เป็นเครื่องประดับของจักรพรรดิชนชั้นสูง บ่งบอกถึงความมั่งคั่งของชนชั้นในสังคมจีนรวมถึงการให้สิ่งของที่ทำจากทองคำ อีกทั้งทองคำยังใช้เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลสำคัญของจีนด้วย เช่นเทศกาลปีใหม่จีน, คริสมาสต์, ปีใหม่สากล ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวนี้มีผลกระทบต่อราคาทองคำในประเทศจีนโดยเฉพาะเดือนมกราคม, กันยายน, พฤศจิกายน ประชากรจีนจะซื้อทองคำเป็นของขวัญให้ตัวเองและคนที่รัก เป็นช่วงที่การบริโภคทองคำมีมากและกระทบกับการซื้อขายทองคำในจีนทุกปี รวมถึงการทำมังกรทองคำสำหรับใช้เป็นเครื่องประดับและการทำเหรียญทองคำเนื่องในโอกาสต่างๆซึ่งแสดงถึงศิลปะวัฒนธรรมของจีน (China's jewellery market, 2012)

แต่จากข้อมูลรูปที่ 26 แสดงจำนวนการแต่งงานและสัดส่วนความต้องการเครื่องประดับในประเทศจีน พบว่า ทองคำในประเทศจีนนั้น ใช้ไปในประเพณีแต่งงานมากที่สุด ถือได้ว่ามีส่วนสำคัญต่อการบริโภคทองคำด้านเครื่องประดับในจีน (Kuo, 2014)

1.2.ประเทศอินเดีย

อินเดียเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว เห็นได้จากการบริโภคทองคำที่มากขึ้น อีกทั้งยังเป็นประเทศผู้นำเข้าทองคำมากที่สุดในโลก โดย 75% ของการบริโภคทองคำมาจากการบริโภคเครื่องประดับ และยังเป็นประเทศที่มีตลาดการค้าขายเครื่องประดับที่ใหญ่ที่สุดในโลก คนอินเดียถือว่าการซื้อทองคำเป็นการลงทุนในชีวิต การบริโภคทองคำของประเทศอินเดียนิยมให้กันในเทศกาลงานแต่งงาน โดยคาดว่ามีการจัดงานแต่งงาน 15 ล้านคู่ต่อปี อีกทั้งเทศกาล Diwali ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม–พฤศจิกายน โดยชาวอินเดียนิยมซื้อทองในช่วงเทศกาลดังกล่าว อินเดียถือได้ว่ามีตลาดการบริโภคเครื่องประดับที่ใหญ่ที่สุด เป็นผลมาจากวัฒนธรรมทางศาสนาที่สืบต่อกันมา เห็นได้ว่าการบริโภคทองคำในประเทศอินเดียนั้นส่วนใหญ่มาจากการเจริญเติบโตเชิงโครงสร้างของประชากรซึ่งมีรายได้เพิ่มมากขึ้น และวัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนาน แต่ต่างกันตรงที่ประชากรอินเดียสมัยใหม่ต้องการเครื่องประดับที่มีการออกแบบที่ร่วมสมัยมากขึ้นและเหมาะกับยุคสมัย พร้อมกันนั้นยังสามารถเข้ากับวัฒนธรรมได้ด้วย (India's jewellery market, 2012)


โครงสร้างประชากร

ปี พ.ศ. 2557 ประเทศอินเดีย มีประชากรประมาณ 1200 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 15% ของประชากรทั้งโลก อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากร 1.34% ต่อปี ค่ากลางของอายุประชากร 27 ปี อัตราการแต่งงาน 9 ล้านคู่ต่อปี ช่วงอายุหนุ่มสาวที่แต่งงานอยู่ในช่วงอายุ มากกว่า 22 ปี แต่ไม่เกิน 25 ปี จะเห็นว่าในอนาคตประชากรอินเดียจะเพิ่มมากขั้น การบริโภคทองคำด้านเครื่องประดับก็น่าจะเพิ่มขึ้น (India Popution, 2015)

จาก รูปที่ 35 แสดงอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรประเทศอินเดียจะเห็นว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรอินเดียลดลง ซึ่งในอนาคตจะส่งผลต่อโครงสร้างประชากร คนวัยชราจะมีมากกว่าชนชั้นแรงงานแต่อัตราการเติบโตของประชากรยังมีมากกว่าประเทศจีนและอเมริกา และในอนาคตมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้น โดยในปี ค.ศ. 2015 มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 1.24% ต่อปี (India Popution, 2015)

จากรูปที่ 36 แสดงการเปรียบเทียบจำนวนประชากรแต่ละประเทศในอนาคตภายในปี ค.ศ. 2022ประเทศอินเดียจะมีประชากรมากที่สุดในโลก แซงหน้าประเทศจีน (Currrent world population, 2015)

จากรูปที่ 36 แสดงการเปรียบเทียบจำนวนประชากรแต่ละประเทศในอนาคตในอนาคตประชากรอินเดียจะมีขนาดมากกว่าประชากรจีนในปี ค.ศ. 2020 แต่กลไกด้านการพัฒนาแตกต่างกัน โดยประเทศอินเดียมุ่งเน้นการพัฒนาทางการเมืองเป็นอันดับแรก จนเข้าสู่ยุคการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลลดการควบคุมและส่งเสริมการแข่งขันอย่างเสรีด้วยการส่งออก ในอนาคตอินเดียจะมีความได้เปรียบกว่าจีนในแง่โอกาสพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยม โดยใช้กลไกตลาดและมีการพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยไปพร้อมๆกัน ในขณะที่ประเทศจีนมีลักษณะการพัฒนาเศรษฐกิจซึ่งถูกควบคุมและพัฒนาการทางการเมืองโดยรัฐบาลซึ่งมิได้มีลักษณะความเป็นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมแบบอินเดีย (ธีรเวคิน, 2556)

สภาพเศรษฐกิจ

อินเดียเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ GDP สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกาและจีน แต่ด้วยจำนวนประชากร 1.2 พันล้านคน ทำให้อินเดียยังถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเศรษฐกิจกำลังพัฒนาที่มีรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ (Lower-middle-income economy)

หากพิจารณาองค์ประกอบทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจอินเดียที่มีพื้นฐานอยู่บนกิจกรรมในสาขาบริการโดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 66 ของ GDP ขณะที่การเกษตรและอุตสาหกรรม มีสัดส่วนร้อยละ 17 ของ GDPเท่ากัน ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มในช่วงที่ผ่านมาที่อินเดียได้กลายเป็นแหล่งการให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยเฉพาะการเป็นศูนย์กลางให้บริการ Call Centre และศูนย์กลางด้านไอทีของภูมิภาค อย่างไรก็ตาม การเกษตรยังคงเป็นสาขาที่จ้างงานสูงสุดในระบบเศรษฐกิจถึงประมาณร้อยละ 50 ของแรงงานทั้งประเทศ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและบริการใช้แรงงานร้อยละ 20 และ 30 ตามลำดับ ตัวเลขปีงบประมาณปี พ.ศ. 2556-57 (ภาพรวมเศรษฐกิจอินเดีย, 2558)

สถานะทางเศรษฐกิจของอินเดียในปัจจุบันปี พ.ศ. 2557 ถือว่าอยู่ในช่วงปลายของการชะลอตัวหลังจากที่อัตราการเติบโต GDP ที่เคยสูงสุดในปี พ.ศ. 2553 ชะลอตัวลงมาอยู่ในระดับร้อยละ 5-6 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งเป็นทั้งตลาดสินค้าและแหล่งเงินทุนที่สำคัญของอินเดีย โดยในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวนั้นอินเดียต้องเผชิญกับอุปสรรคในการพัฒนาหลายประการ อาทิ 1) โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอไม่ว่าจะเป็น ถนน ไฟฟ้า และสาธารณูปโภคอื่นๆ 2) การขาดแคลนพลังงาน 3) ความล่าช้าในการผ่อน คลายกฎระเบียบการค้าการลงทุน และ 4) อัตราเงินเฟ้อ (ภาพรวมเศรษฐกิจอินเดีย, 2558)

รัฐบาลอินเดียคาดการณ์ว่า การเติบโต GDP ในปี พ.ศ. 2557-58 จะยังคงเติบโตที่อัตราร้อยละ 5.4-5.8 เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ 1) นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจต้องใช้เวลาอีกระยะจึงจะเห็นผล 2) การเติบโตที่ชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งจะมีผลต่อการส่งออกของอินเดีย 3) ธนาคารกลางอินเดียยังไม่สามารถลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้เนื่องจากแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อ 4) ฤดูมรสุมที่ผิดปกติทำให้ผลิตผลการเกษตรอาจลดลง

สถาบันมูดี้ส์ (Moody’s Investors Service) ปรับอันดับแนวโน้มความน่าเชื่อถือของภาคธนาคารอินเดียจากยังมีความเสี่ยง (Negative Outlook) มาเป็น มีเสถียรภาพ (Stable Outlook) เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2558 เป็นการยืนยันว่าภาคธนาคารของอินเดียมีความเข้มแข็งมากขึ้น หลังจากมีการลดภาระหนี้เสีย (NPLs) ในภาคการเงินลงต่ำกว่าร้อยละ 4.8 และการดำเนินนโยบายปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจที่ดีขึ้นมาตั้งแต่ปี 2554 นอกจากนี้รัฐบาลอินเดียยังประกาศที่จะอัดฉีดเงินจำนวนกว่า 7 แสนล้านรูปี (3.5 แสนล้านบาท) เพื่อสนับสนุนธนาคารและสถาบันการเงินของรัฐให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นในช่วง 4 ปีข้างหน้าด้วย

ขณะนี้เศรษฐกิจอินเดียกำลังมีทิศทางที่สดใส กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็ได้ประเมินแล้วว่าอินเดียจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุดในโลกแทนประเทศจีนปีนี้ อัตราการขยายตัวของ GDP ร้อยละ 7.5 มีชนชั้นกลางที่จะเพิ่มขึ้นจาก 318 ล้านคนเป็น 523 ล้านคนภายในปี 2568 (ข่าวดีและข่าวร้ายของโมดี, 2558)

ในขณะที่ทั่วโลกเริ่มมีการบริโภคทองคำ ในระดับที่คงตัวแต่เมื่อเทียบกับอินเดียแล้ว ยังคงเป็นประเทศที่ยังมีการบริโภคทองคำอยู่ในระดับสูง ทั้งเพื่อใช้ในการลงทุน อุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งการบริโภคบริโภคในครัวเรือน การบริโภคทองคำในระดับสูงของคนอินเดียส่งผลต่อเสถียรภาพ ทางด้านเศรษฐกิจเนื่องจากการนำเข้าอินเดียในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของอินเดียขาดทุน(Current Account Deficit) และส่งผลต่อค่าเงินของอินเดียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อลดปัญหาการขาดดุลทางการค้า รัฐบาลอินเดียจึงมีแนวความคิดนำทองคำที่มีสะสมอยู่ในประเทศของทุกกลุ่มในประเทศมาฝากกับสถาบันการเงินหรือธนาคาร เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและก่อให้เกิดผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมลดการนำเข้าทองคำ ที่จะส่งผลไปยังภาพรวมทางเศรษฐกิจของประเทศ (บทบาททองคำในวิถีชีวิตคนอินเดีย, 2558)

รัฐบาลอินเดียออกมาตรการควบคุมการนำเข้าทองคำอย่างจริงจัง เพื่อลดการขาดดุลเงินบัญชีเดินสะพัด จากการนำเข้าน้ำมันและทองคำจำนวนมหาศาลจากต่างประเทศ โดยรัฐบาลอินเดียได้ออกนโยบายกีดกันลดการนำเข้าทองคำต่างๆ เช่น การเพิ่มภาษีศุลกากรนำเข้าทองคำที่ยังไม่ได้แปรรูปเป็นระดับสูงสุดร้อยละ 10 เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2556 แต่เมื่อเดือนกรกฏาคม พ.ศ 2558 รัฐบาลอินเดียทำการปรับอัตราภาษีนำเข้าทองและเงินลดลงเล็กน้อยซึ่งทองคำมีราคานำเข้าอยู่ที่ $ 354 ต่อ 10 กรัม เนื่องจากแนวโน้มราคาทองคำตลาดโลกที่อ่อนแอลง (รัฐบาลประเทศอินเดียลดภาษีนำเข้าทองคำ, 2558)

การบริโภคทองคำของชาวอินเดียยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่อาจปรับตัวลดลงหรือสูงขึ้นตามราคาทองในตลาดโลกและนโยบายด้านภาษีนำเข้า ทองคำของรัฐบาลอินเดีย ที่ผ่านมารัฐบาลอินเดียจึงต้องบริหารจัดการการบริโภคของชาวอินเดีย เพื่อพยุงภาวะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดด้วยการปรับเปลี่ยนอัตราภาษีอยู่เสมอตามราคาทองคำในตลาดโลกและการบริโภคจากภายในประเทศ

ความนิยมชมชอบทองคำของชาวอินเดียนั้น นอกจากจะนำมาซึ่งภาวะขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เนื่องจากต้องพึ่งพาการนำเข้าทองคำจากต่างประเทศแล้ว การคุมเข้มการนำเข้าทองของรัฐบาลอินเดีย ยังส่งผลให้มีกระบวนการลักลอบนำเข้าทองคำเข้าสู่ประเทศอย่างผิดกฎหมาย เพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าวกระทรวงการคลังอินเดียจึงได้ริเริ่ม “โครงการฝากทองไว้กับธนาคาร (มองอินเดียใหม่, 2557)” (Gold Deposit Scheme – GDS) โดยมีจุดประสงค์เพื่อระดมทองคำ (อย่างน้อย 500 กรัม) ที่ชาวอินเดียเก็บไว้อย่างปลอดภัย แต่ไม่มีผลกำไรใดๆและจะนำมาใช้ก็ต่อเมื่อมีงานแต่งงาน งานวันเกิด งานวันครบรอบแต่งงาน โดยนอกจากผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับดอกเบี้ยจากการฝากทองคำแล้ว ยังลดภาระจากการเก็บรักษาทอง ทองคำในครอบครองได้รับการทดสอบคุณภาพและยังเป็นการช่วยบรรเทาภาวะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศด้วยการลดการนำเข้าทองจากต่างประเทศด้วย

ในส่วนของธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ เมื่อได้รับทองคำของลูกค้าแล้ว ก็จะส่งต่อไปธนาคารกลางอินเดียเพื่อตรวจสอบคุณภาพ หลังจากนั้นทองคำจะถูกนำไปหลอมรวมกันแล้วนำกลับมาเป็นอุปทานรองรับกับอุปสงค์ทองคำภายในประเทศ ทางธนาคารจึงสนับสนุนให้ลูกค้านำทองในรูปแบบของเหรียญทองหรือทองคำแท่งมาฝาก แทนการนำเครื่องประดับที่ทำจากทองมาฝาก เนื่องจากเมื่อครบอายุการฝากทองแล้ว ลูกค้าจะได้รับทองคำคืนในรูปแบบของเหรียญทองหรือทองคำแท่งเท่านั้น ล่าสุด ธนาคารเอกชน Yes Bank ของอินเดียก็ได้เปิดตัวบัญชีรับฝากทองคำ (Gold Deposit Account) โดยเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าสามารถนำเงินสดมาเข้าบัญชีทองคำได้ โดยเงินสดจำนวนดังกล่าวจะถูกคำนวณให้เป็นปริมาณทองคำตามราคาตลาด และขั้นตอนหลังจากนั้นก็เหมือนกับในโครงการข้างต้น

หากนโยบาย Gold Monetization (บทบาททองคำในวิถีชีวิตคนอินเดีย, 2558) สามารถนำมาใช้ปฏิบัติได้จริงจะส่งผลอย่างยิ่งต่อ

  1. ภาคการเงินของอินเดีย มีการหมุนเวียนของเงินตราในระบบเพิ่มขึ้นจากการนำทองคำที่เคยเก็บไว้เป็นสินทรัพย์ที่เปลี่ยนเป็นเงินยาก ให้นำไปฝากธนาคารมากขึ้นและผู้ฝากจะได้นำเงินมาใช้จ่ายหรือเพิ่มการลงทุนและการค้าได้ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
  2. ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องเช่น อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับสามารถนำทองคำในประเทศมาผลิตและใช้ในอุตสาหกรรม ดังกล่าวมากขึ้น ลดการนำเข้าจากต่างประเทศและจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น เพิ่มการนำเข้าวัตถุดิบ อัญมณี และเครื่องประดับจากไทยได้
  3. ลดตัวเลขการนำเข้าทองคำได้ ทำให้อินเดียสามารถลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ส่งผลต่อค่าเงินรูปี ที่อาจจะกลับมามีเสถียรภาพและแข็งค่ามากขึ้นในอนาคต

โครงการธนาคารทองคำของรัฐบาลอินเดียและเอกชนอินเดียที่กล่าวมาข้างต้น ถือว่าเป็นวิธีการแก้ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่สร้างสรรค์ ช่วยนำทองคำนอกระบบเข้าสู่ระบบ ทำให้ครัวเรือนได้ผลกำไรจากสินทรัพย์ดีกว่าการเก็บทองไว้ที่บ้าน นับว่าเป็นไอเดียที่คิดนอกกรอบอีกอย่างหนึ่งของรัฐบาลอินเดีย

วัฒนธรรม

ทองคำเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนอินเดีย เนื่องจากเป็นสัญลักษณ์แห่งเกียรติยศ ความบริสุทธิ์ และนิรันดรภาพ ผู้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาจะใช้สวมใส่ในการประกอบพิธีการ นอกจากนี้ศาสนาฮินดูอันเป็นศาสนาหลักประจำชาติมีความเชื่อว่าทองคำเป็นสัญลักษณ์แห่งความศักดิ์สิทธิ์ของพระแม่ลักษมี คนอินเดียจึงนิยมซื้อทองคำในวันบูชาพระแม่ฯ เพราะเชื่อว่าจะนำมาซึ่งความรุ่งเรือง โชคลาภ สุขภาพ ความมั่งคั่ง ทองคำยังเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความมั่งคั่งและมั่นคงของครอบครัวชาวอินเดีย และใช้เป็นของตกแต่งประดับร่างกายของตนเอง ดังนั้นคนอินเดียจึงให้ความสำคัญในการเก็บสะสมทองคำไว้เป็นอย่างยิ่ง เทศกาลสำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับการซื้อทองคำที่น่าสนใจมีอยู่ 2 เทศกาล

เทศกาลแรก คือ เทศกาลแต่งงานที่ชาวอินเดียนิยมให้สินสอดกันเป็นทองคำรูปพรรณ นอกจากนี้ยังมีการใช้เป็นเครื่องประดับสำหรับเจ้าบ่าวเจ้าสาว ด้วยยอดการแต่งงานปีละหลายล้านคู่ทำให้การบริโภคทองคำมีจำนวนมาก No Gold, No Wedding เป็นคำที่ชาวอินเดียพูดกันทั่วไป บ่งบอกถึงความสำคัญของทองคำ ธรรมเนียมเรียกสินสอดแบบโบราณของอินเดียกำหนดให้เจ้าสาวและครอบครัวต้องมอบสิ่งของแก่ครอบครัวของเจ้าบ่าว แม้ว่าธรรมเนียมเช่นนี้จะผิดกฎหมายมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1961 แล้ว แต่คนทั่วไปยังคงคาดหวังว่าครอบครัวของฝ่ายหญิงจะต้องนำสิ่งของไปร่วมงานแต่งอยู่ต่อไป ทองคำจึงเข้ามาแทนที่สินสอดแบบเก่าได้เป็นอย่างดี ใครอยากเป็นเจ้าสาวก็ต้องเก็บสะสมทองคำที่ได้รับเป็นของขวัญจากบิดามารดาตั้งแต่รับขวัญเมื่อแรกเกิดไปจนโต

เพราะทองคำเป็นเครื่องแสดงสถานะของครอบครัวเจ้าสาวต่อครอบครัวของเจ้าบ่าว และยังถือเป็นความมั่นคงส่วนตัวภรรยาหลังต้องเดินเข้าสู่บ้านสามีหลังแต่งงาน ความเชื่ออย่างนี้ทำให้สาวอินเดียไม่ยอมขายทองคำของตนโดยง่าย เพราะนอกจากมูลค่าในตัวทองคำแล้ว ยังเป็นเสมือนทรัพย์มรดกที่มีคุณค่าทางจิตใจ และเป็นหลักประกันถึงศักยภาพของตนในการจะมีชีวิตคู่อีกด้วย ทองคำจำนวนครึ่งหนึ่งที่ซื้อขายในประเทศอินเดียเป็นการลงทุนเพื่อการแต่งงาน ในประเทศอินเดียจะมีการจัดงานแต่งงาน 5 ล้านครั้งต่อปีโดยเฉลี่ย ทำให้ประเมินกันว่าในฤดูจัดงานแต่งงานประจำปี พ.ศ. 2015 ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมจนสิ้นสุดในเดือนมิถุนายน การบริโภคทองคำของคนอินเดียจะขยับเพิ่มขึ้นถึง 10%

เทศกาลที่สอง คือเทศกาลดิวาลี (Diwali) หรือเทศกาลแห่งแสงที่ชาวอินเดียนิยมซื้อของกำนัลให้แก่คนในครอบครัว ซึ่งมักจะเป็นอัญมณีและเครื่องประดับทำให้มีการบริโภคทองคำเข้ามาในช่วงดังกล่าวเช่นกัน โดยเทศกาลดีวาลี (Diwali) จะมีในช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน ของทุกปี

จากรูปที่ 47 แสดงการเปลี่ยนแปลงของราคาทองคำรายเดือนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1975 จะเห็นได้ว่า ช่วงที่เหมาะสมในการซื้อทองคำมากที่สุดอยู่ในเดือน มีนาคม ของทุกปี แต่เรายังสงสัยต่อว่า แล้วถ้าตลาดต่างกันจะมีผลต่อราคาในเดือนมีนาคมด้วยหรือไม่

จาก รูปที่ 48 แสดงความผันผวนของราคาในแต่ละเดือนตามสภาวะตลาดในแต่ละช่วงเวลา สามารถสรุปได้ว่า ไม่ว่าตลาดจะเป็นแบบไหน เราสามารถซื้อทองได้ในราคาดีที่สุดในช่วงเดือนมีนาคม

  1. การบริโภคด้านเทคโนโลยี

ในชีวิตประจำวันเราจะเห็นทองคำถูกใช้เป็นส่วนประกอบของเทคโนโลยี เช่น ใช้เป็นส่วนผสมของสายสัญญาณในยานอวกาศ, ใช้ในเทคโนโลยีทางการแพทย์, ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ ที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้นทุนของเทคโนโลยีที่ใช้ทองคำเป็นส่วนประกอบนั้นยังมีราคาสูงด้วยเช่นกัน

เนื่องจากคุณสมบัติเฉพาะตัวของทองคำ ความต้านทาน การทนต่อการกัดกร่อน มีผลให้ความปลอดภัยของอุปกรณ์อิเลคทรอนิคเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังทำให้ประสิทธิภาพโดยรวมดีขึ้นด้วย ดังนั้นจึงนิยมนำทองคำมาใช้งานในอุตสาหกรรมอิเลคทรอนิค การใช้งานในวงการการแพทย์ด้านของสุขภาพฟัน รวมถึงการใช้เป็นวัสดุอุปกรณ์ตกแต่งบ้านและอาคารด้วย ปัจจุบันมีการพัฒนาและต่อยอดเพื่อนำทองคำมาใช้งานด้านนาโนเทคโนโลยี โดยใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติในระดับอะตอม เพื่อพัฒนาไปสู่การส่งยารักษาโรคไปสู่ร่างกายผ่านวัสดุทำจากทองคำ, การสร้างแผ่นติดตามประเมินผลสุขภาพของผู้ป่วยด้วยการฝังแผ่นทองคำที่ร่างกายมนุษย์, รวมถึงใช้เป็นตัวเร่งปฎิกิริยาในกระบวนการทางเคมีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของวัสดุ เป็นต้น

ทองคำในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

ทองคำถูกนำมาใช้ในวงการอิเล็คทรอนิกส์และการสื่อสารโทรคมนาคม อาทิเช่น สวิตซ์โทรศัพท์ที่ใช้เป็นแผงตัด เพื่อให้กระแสไฟฟ้าเดินได้สะดวก การใช้ลวดทองคำขนาดจิ๋วเชื่อมต่อวัสดุกึ่งตัวนำและทรานซิสเตอร์ การใช้ลวดทังสเตนและโมลิบดีนัมเคลือบทองคำ ใช้ในอุตสาหกรรมหลอดสูญญากาศ การเคลือบผิวเสาอากาศด้วยทองคำเพื่อการสื่อสารระยะไกล การใช้ตาข่ายทองคำเพื่อป้องกันการรบกวนจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในระบบการสื่อสารการบินพาณิชย์ การใช้อลูมิเนี่ยมเคลือบทองในเครื่องถ่ายเอกสารเพื่อทำหน้าที่สะท้อนรังสีอินฟราเรดได้อย่างดีเลิศ การใช้โลหะทองคำเจือเงิน และนิกเกิลประกบผิวทองเหลืองสำหรับใช้ในปลั๊ก ปุ่มสวิตซ์ไช้งานหนัก หรือสปริงเลื่อนในลูกบิดเลือกเปลี่ยนช่องทีวี แผงวงจรต่างๆ ก็มีทองคำเป็นตัวนำไฟฟ้าเพื่อให้ทำงานได้ตลอดอายุงานเนื่องจากทองคำอยู่ตัว และไม่เกิดฟิล์มออกไซด์ที่ผิว (Gold in electronics, 2015)

การคมนาคมและการสื่อสารโทรคมนาคม

ทองคำมีคุณสมบัติการสะท้อนรังสีอินฟราเรดได้ดี ทองคำจึงถูกนำมาใช้กับดาวเทียม ชุดอวกาศ และยานอวกาศ เพื่อป้องกันการแผ่รังสีของดวงอาทิตย์ที่มากเกินไป กระจกด้านหน้าของเครื่องบินคองคอร์ด จะมีแผ่นฟิล์มทองคำติดไว้ป้องกันรังสีจากดวงอาทิตย์ และป้องกันการจับตัวเป็นน้ำแข็ง หรือการทำให้เกิดฝ้าหมอกมัวกระจกด้านนอกของเครื่องเป็นสีน้ำตาล หรือบรอนซ์จาง ๆ และมองจากด้านในจะเป็นสีน้ำเงินจางๆ ก็มีชั้นฟิล์มทองคำติดไว้เพื่อป้องกันความกล้าของแสงแดดและความร้อนจากดวงอาทิตย์ ใบจักรกังหันในเครื่องบินไอพ่น ถ้าไม่มีส่วนผสมของทองคำที่จะประสานกับโรเตอร์ ย่อมจะแตกแยกได้ง่าย ชิ้นส่วนประกอบสำคัญของเครื่องคอมพิวเตอร์ก็มีทองคำเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย อาคารสำนักงานใหญ่ๆ ของธนาคารกลางในแคนาดาในนครโตรอนโต้ ก็ติดแผ่นฟิล์มทองคำด้วยทอง 24 K มีน้ำหนักรวมถึง 77.7 กิโลกรัม เพื่อลดความร้อน และปรับอุณหภูมิในอาคารให้พอเหมาะและเพิ่มความสวยของอาคารอีกด้วย (Gold in electronics, 2015)

วงการแพทย์และทันตกรรม

ความเชื่อเกี่ยวกับการรักษาโรคด้วยทองคำมีมาแต่ครั้งเก่าก่อน คนโบราณเชื่อว่าเมื่อนำทองคำผสมกับยา จะเป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยให้มีชีวิตยืนยาว หมอแผนโบราณยังคงสั่ง“ยาเม็ดทอง”ให้กิน เพื่อกันโรคหลายอย่างรวมทั้งโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศและการเป็นหมัน ในโลกยุคปัจจุบันการแพทย์สมัยใหม่ก็มีการทดลองใช้ทองคำเพื่อการบำบัดรักษาโรคภัย ทองคำถูกนำมาใช้ในการต่อสู้กับโรคมะเร็งในรายหนักๆ แพทย์จะฉีดสารละลายของทองคำกัมมันตรังสีแต่ปริมาณทองที่ใช้ในการแพทย์รวมแล้วยังเล็กน้อยและไม่มีความสำคัญอะไร ซ้ำราคายังแพงอีกต่างหากการใช้ทองคำในการแผ่รังสี การสอดทองใส่ในกล้ามเนื้อเพื่อให้มีกำลังต่อสู้กับความเจ็บป่วย การใช้ทองคำเป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการแยกวิเคราะห์ปอดและตับ ในด้านทันตกรรม ทองคำถูกนำมาใช้โดยวิธีการบ่มแข็งทองคำไม่เป็นพิษต่อร่างกาย และมีจุดหลอมตัวปานกลาง ทองคำจึงเหมาะสมในการถูกนำมาใช้ในการอุดฟัน ครอบฟัน ทำฟันปลอม การจัดฟันและการดัดฟัน (Gold in medicine, 2015)

จากข้อมูล รูปที่ 56 แสดงความสัมพันธ์ระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการบริโภคทองคำด้านเทคโนโลยี ทุกๆการเพิ่มขึ้นของ GDP 1 % จะเพิ่มสัดส่วนการบริโภคด้านเทคโนโลยีได้ถึง 5 % ส่งผลดีต่อราคาทองคำ เราพอจะอุมานได้ว่าการบริโภคทองคำด้านเทคโนโลยีจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ในขณะเดียวกันการบริโภคจะลดลงตามการหดตัวของเศรษฐกิจโลก

บทสรุป ด้านการบริโภค

จากข้อมูลดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นทั้งหมด พอจะสรุปได้ว่า การบริโภคด้านเครื่องประดับและด้านเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาทองคำเปลี่ยนแปลงในระยะยาว โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยการใช้จ่ายของผู้บริโภคเป็นหลัก หากเศรษฐกิจดี ผู้บริโภคมีเงินเหลือจากการใช้จ่าย การบริโภคทองจะเพิ่มขึ้นและส่งผลต่อราคาทองคำ

การบริโภคทองคำในตลาดโลก เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร สภาพเศรษฐกิจ อิทธิพลทางวัฒนธรรม ในประเทศจีนและอินเดีย ซึ่งจะส่งผลต่อการบริโภคด้านเครื่องประดับและเทคโนโลยี ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อการบริโภคทองคำและราคาทองคำในระยะยาว ซึ่งจากข้อมูลข้างต้นในอนาคตประชากรประเทศอินเดียจะมีมากกว่าประเทศจีน พร้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจประเทศอินเดียที่กำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีการลงทุนด้านโครงสร้างของประเทศ เพื่อรองรับความเจริญเติบโตในอนาคต ในขณะที่ประเทศจีนกำลังอยู่ในช่วงการปรับฐานและชะลอการพัฒนาเพื่อสร้างฐานให้แข็งแกร่งแต่การบริโภคทองคำในประเทศจีนยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทางผู้จัดทำได้ตั้งข้อสังเกตุไว้ว่า ทุกวันนี้ทิศทางราคาทองคำถูกกำหนดด้วย Demand – Supply ซึ่งประกอบไปด้วยการบริโภคที่แท้จริงกับการบริโภคเทียม โดยการบริโภคที่แท้จริงเกิดจากโครงสร้างของประชากรผ่านความเชื่อที่สั่งสมมานานของประเทศจีนและอินเดีย ในส่วนนี้เราพอจะคาดการณ์ได้ระดับหนึ่ง แต่ในส่วนของการบริโภคเทียมซึ่งเกิดจากการซื้อขายทองคำในตลาดล่วงหน้า โดยมีปริมาณการซื้อขายมาก ทั้งเพื่อการเกร็งกำไร การป้องกันอัตราเงินเฟ้อ การกระจายการลงทุน ซึ่งทำให้ราคาทองคำผันผวนในระยะสั้น ปัจจัยส่วนนี้เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ ทำได้แต่เพียงจัดการความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในส่วนนี้ โดยกำหนดเหตุการณ์ที่มีผลกระทบกับสัดส่วนการลงทุน พร้อมประเมินและจำลองผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพอรต์การลงทุน แล้วทำการวางแผนการไว้ล่วงหน้าเท่านั้น

โดยสรุปแล้วการเข้าใจพฤติกรรมการบริโภคของประเทศที่มีการซื้อขายทองคำและพฤติกรรมการบริโภคของการซื้อขายทองคำในตลาดล่วงหน้า น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมทองคำรวมถึงผู้ลงทุนในทองคำไม่มากก็น้อยเช่นกัน

Fact book ฉบับนี้ขอจบไว้ที่การบริโภคด้านเครื่องประดับและด้านเทคโนโลยี ฉบับหน้าจะมาพิจารณาข้อมูลการบริโภคภาคการลงทุนซึ่งมีส่วนสำคัญต่อความผันผวนราคาทองคำมากที่สุด

 

References

  1. PopulationPyramid.net. PopulationPyramid.net. 2015. Available at: http://populationpyramid.net/china/2015/. Accessed December 28, 2015.
  2. Worldometers.info. Population of China (2015) – Worldometers. 2015. Available at: http://www.worldometers.info/world-population/china-population. Accessed December 28, 2015.
  3. Macrotrends.net. Historical Gold Prices – 100 Year Chart | MacroTrends. 2015. Available at: http://www.macrotrends.net/1333/gold-and-silver-prices-100-year-historical-chart. Accessed December 28, 2015.
  4. SPDR Gold Shares (GLD). Historical data > Singapore > SPDR Gold Shares (GLD). Bringing the gold market to investors. 2015. Available at: http://www.spdrgoldshares.com/singapore/historical-data/. Accessed December 28, 2015.
  5. BBC News. China to end one-child policy and allow two – BBC News. 2015. Available at: http://www.bbc.com/news/world-asia-34665539. Accessed December 28, 2015.
  6. Steven Jiang and Susannah Cullinane C. China one-child policy to end – CNN.com. CNN. 2015. Available at: http://edition.cnn.com/2015/10/29/asia/china-one-child-policy/index.html. Accessed December 28, 2015.
  7.  Ieconomics.com. China GDP Growth Rate | Forecast. 2015. Available at: http://ieconomics.com/china-gdp-growth-rate-forecast. Accessed December 28, 2015.
  8. Tradingeconomics.com. China GDP Growth Rate | 2010-2015 | Data | Chart | Calendar | Forecast. 2015. Available at: http://www.tradingeconomics.com/china/gdp-growth. Accessed December 28, 2015.
  9. Dhiravegin.com. Prof.Dr. Likhit Dhiravegin. 2015. Available at: http://www.dhiravegin.com/detail.php?item_id=001083. Accessed December 28, 2015.
  10. Cps.chula.ac.th. 2015. Available at: http://www.cps.chula.ac.th/cps/pop_info/thai/nop7/aging/policy27.html. Accessed December 28, 2015.
  11. Goldtraders.or.th. Gold Traders Association : สมาคมค้าทองคำ. 2015. Available at: http://www.goldtraders.or.th/PageView.aspx?page=5. Accessed December 28, 2015.
  12. Xn–forex-k7qvhpab11ana.blogspot.com. forexคืนทุน: บทที่ 2 ปัจจัยพื้นฐานของทองคำ. 2015. Available at: http://xn--forex-k7qvhpab11ana.blogspot.com/2015/07/2.html. Accessed December 28, 2015.
  13. Thaibestforex.com. บทที่ 2 ปัจจัยพื้นฐานของทองคำ – บทความเกี่ยวกับ Forex สอนเล่น สอนเทรด – Thai Best Forex. 2015. Available at: http://www.thaibestforex.com/forex/2-490/?/. Accessed December 28, 2015.
  14. Gold.org. Central Bank Gold Agreements | World Gold Council. 2015. Available at: http://www.gold.org/reserve-asset-management/central-bank-gold-agreements. Accessed December 28, 2015.
  15. Goldtraders.or.th. Gold Traders Association : สมาคมค้าทองคำ. 2015. Available at: http://www.goldtraders.or.th/ArticleView.aspx?gp=2&id=790. Accessed December 28, 2015.
  16. Goldtraders.or.th. Gold Traders Association : สมาคมค้าทองคำ. 2015. Available at: http://www.goldtraders.or.th/ArticleView.aspx?gp=2&id=859. Accessed December 28, 2015.
  17. The Times of India. Government cuts import tariff value on gold and silver – Times of India. 2015. Available at: http://timesofindia.indiatimes.com/business/india-business/Government-cuts-import-tariff-value-on-gold-and-silver/articleshow/49770182.cms. Accessed December 28, 2015.

Bibliography

  1. BIBLIOGRAPHY China's jewellery market. (2012). Retrieved from World Gold Council: www.gold.org
  2. India's jewellery market. (2012). Retrieved from World Gold Council: www.gold.org
  3. China. (2015). Retrieved from Worldometers: www.worldometers.info
  4. China population. (2015). Retrieved from www.populationpyramid.net
  5. China to end on-child policy. (2015, october). Retrieved from www.bbc.com
  6. Currrent world population. (2015). Retrieved from www.worldometers.info
  7. Gold in electronics. (2015). Retrieved from World Gold Council: www.gold.org
  8. Gold in medicine. (2015). Retrieved from www.gold.org
  9. India Popution. (2015). Retrieved from www.populationpyramid.net
  10. คุณสมบัติและประโยชน์. (2553). Retrieved ธันวาคม 01, 2558, from สมาคมค้าทองคำ: www.goldtrader.o.rth
  11. มองอินเดียใหม่. (2557, สิงหาคม 31). Retrieved from http://www.thaiindia.net
  12. ข่าวดีและข่าวร้ายของโมดี. (2558, พฤศจิกายน). Retrieved from http://www.thaiindia.net
  13. บทบาททองคำในวิถีชีวิตคนอินเดีย. (2558, มิถุนายน 3). Retrieved from http://www.ditp.go.th
  14. บทบาททองคำในวิถีชีวิตคนอินเดีย. (2558, มิถุนายน 3). Retrieved from http://www.ditp.go.th
  15. ภาพรวมเศรษฐกิจอินเดีย. (2558, มกราคม). Retrieved from http://thaiindia.net
  16. ภาพรวมเศรษฐกิจอินเดีย. (2558, ธันวาคม 1). Retrieved from http://thaiindia.net
  17. รัฐบาลประเทศอินเดียลดภาษีนำเข้าทองคำ. (2558, กรกฏาคม 15). Retrieved from http://www.thaitextile.org
  18. Grubb, M. (2014, march 8). Risk management and capital preservation. Retrieved from World Gold Counsil: www.gold.org
  19. Khanna, R. (2015, July). Hallmarking, Developing Indian. Retrieved from World Gold Counsil: www.gold.org
  20. Kuo, L. (2014, april). What wedding rings say. Retrieved from www.theatlantic.com
  21. McVeigh, M. (2015, November). Demand Trends Q3 Y2015. Retrieved from World Gold Council: www.gold.org
  22. ธีรเวคิน, ศ. (2556, พฤศษาคม 23). การพัฒนาของจีนและอินเดีย. Retrieved from www.siamrath.co.th
  23. พูนผลกุล, พ. (2558, สิงหาคม 1). เส้นทางการปฏิรูปเศรษกิจจีน. Retrieved from www.bot.or.th